
การถือพรหมจรรย์กลายเป็นข้อบังคับสำหรับพระสันตะปาปาและนักบวชตั้งแต่เมื่อใด และทำไมเป็นเช่นนั้น ?

ที่มาของภาพ : Getty Images
Article data
- Creator, สวามินาทาน นาทาราจัน
- Feature, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันในสัปดาห์นี้ (7 พ.ค.) เพื่อเลือกผู้นำคนต่อไปของชาวคาทอลิกที่มีอยู่ประมาณ 1,400 ล้านคนทั่วโลก
ในทางเทคนิคแล้ว ผู้ชายคริสเตียนที่เข้าพิธีรับบัพติศมาแล้วทุกคนสามารถได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ได้ แต่พระสันตะปาปาทุกองค์นับตั้งแต่ปี 1378 ล้วนมาจากบรรดาพระคาร์ดินัลซึ่งเป็นผู้เลือกพระสันตะปาปา
แม้ยากที่จะคาดเดาว่าใครจะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป แต่เราแทบจะแน่ใจได้เลยว่า พระองค์จะไม่ใช่ชายที่แต่งงานแล้ว
ข้อกำหนดของนักบวชที่ต้องถือพรหมจรรย์จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างดุเดือดภายในคริสตจักรมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และมีการเรียกร้องบ่อยครั้งให้ผู้ชายและผู้หญิงที่แต่งงานแล้วได้รับการยอมรับเข้าเป็นบาทหลวง
อย่างไรก็ตาม การยืนกรานเรื่องความเป็นพรหมจรรย์นี้ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเสมอไป ในคริสตจักรยุคแรก มีบาทหลวงหลายองค์ และรวมทั้งพระสันตะปาปามากกว่าหนึ่งพระองค์ที่มีภรรยา
พระสันตะปาปาที่แต่งงานในคริสตจักรยุคแรก

ที่มาของภาพ : Getty Images
นครวาติกันมีรายชื่อพระสันตะปาปา 266 พระองค์โดยไม่ขาดสาย โดยเริ่มจากนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นชายที่แต่งงานแล้ว (พระวรสารกล่าวว่าพระเยซูทรงรักษาพระสัสสุ แม่ยาย ของพระองค์)
บทความที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของวาติกันยอมรับว่าในช่วงปีแรก ๆ “บรรดาบิชอป บาทหลวง และมัคนายกของคริสตจักรยุคแรกมักจะเป็นบุคคลที่รักครอบครัว”
“นอกจากนี้ยังชัดเจนอีกด้วยว่า… ในศตวรรษต่อมา การมีนักบวชที่แต่งงานแล้ว ซึ่งมีจำนวนไม่มากก็น้อย กลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตในคริสตจักร”
บทความดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า เรารู้จักพระสันตะปาปาที่แต่งงานแล้ว เช่น พระสันตปาปาฮอร์มิสดาส (ค.ศ. 514-23) พระบิดาของพระสันตปาปาซิลเวอเรียส ผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์
แต่มีนักประวัติศาสตร์หลายคนที่ศึกษาศาสนาคริสต์ยุคแรกเชื่อว่า ไม่ได้มีเพียงพระสันตะปาปาเปโตรและฮอร์มิสดาสเพียงแค่สองพระองค์
“พระสันตะปาปา 39 พระองค์แรกเป็นชายที่แต่งงานแล้ว” ลินดา ปินโต ประธานร่วมกลุ่มความเคลื่อนไหวคาทอลิก ฟอร์ ชอยส์ (Catholic for Different) ในสหรัฐฯ กล่าว ซึ่งกลุ่มนี้รณรงค์ให้มีคณะสงฆ์ที่รวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน (inclusive)
อดีตแม่ชีผู้นี้ซึ่งออกจากคริสตจักรเพื่อแต่งงานกับอดีตบาทหลวง โต้แย้งว่าคำสอนของพระเยซูไม่ได้กำหนดข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับพรหมจรรย์
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ที่บีบีซีพูดคุยด้วยเห็นด้วยว่าผู้นำคริสตจักรยุคแรก ๆ หลายคนน่าจะมีภรรยา
ศาสตราจารย์คิม เฮนส์-ไอตเซน จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคริสต์ศาสนายุคแรก กล่าวกับบีบีซีว่า “ในยุคเริ่มแรกสุด เรามีหลักฐานชัดเจนว่านักบวชเหล่านั้นแต่งงานแล้ว”
เธอโต้แย้งว่า คริสต์ศาสนาเปลี่ยนไปหลังจากที่แพร่กระจายจากรากฐานของชาวยิวไปสู่โลกของกรีก-โรมัน และได้รับแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติแบบบำเพ็ญพรต เช่น การควบคุมตนเอง การอยู่โดดเดี่ยวหรือสันโดษ และพรหมจรรย์
ต่อมาจักรพรรดิคอนสแตนตินทรงประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งทำให้พระสันตะปาปามีบทบาททางการเมืองอย่างแข็งขัน
“โดยทั่วไปแล้ว พระสันตะปาปามักจะเป็นสมาชิกของตระกูลขุนนางโรมันหรือเป็นพระสหายของจักรพรรดิเยอรมันที่ปกครองประเทศ” นีอามห์ มิดเดิลตัน อดีตอาจารย์ด้านเทววิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยดับลิน ซิตี กล่าว

ที่มาของภาพ : Getty Images
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในศตวรรษที่ 5 อาณาจักรเล็ก ๆ รอบกรุงโรมก็กลายมาเป็นรัฐพระสันตะปาปา (ค.ศ. 756 -1870) โดยมีพระสันตะปาปาเป็นผู้ปกครอง คริสตจักรได้สะสมความมั่งคั่งและอำนาจ และยุคแห่งการวางแผนทางการเมืองก็เริ่มต้นขึ้น
“เป็นเรื่องปกติที่พระสันตะปาปา บิชอป และนักบวชจะแต่งงานและมีนางสนม ประกอบกับการผิดศีลธรรมทางเพศในช่วง ‘ยุคมืด' ของพระสันตะปาปา ตลอดจนปัญหาของการซื้อขายสิ่งของหรือตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ (simony) ในคริสตจักรเพื่อหาเงิน ได้กระตุ้นให้เกรกอรีริเริ่มการปฏิรูปคริสตจักรครั้งใหญ่” มิดเดิลตันกล่าวกับบีบีซี
เดียร์เมด แมคคัลลอค ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์คริสตจักรที่เซนต์ ครอส คอลเลจ (St Imperfect Faculty) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เห็นด้วยว่า “นักบวชส่วนใหญ่ในคริสตจักรตะวันออกและตะวันตกจนถึงศตวรรษที่ 12 แต่งงานแล้วและมีลูกแน่นอน” โดยอ้างอิงถึงศูนย์กลางอำนาจสองแห่งของคริสตจักรยุคแรก คือ กรุงโรมและเมืองคอนสแตนติโนเปิล
แมคคัลลอค ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Lower than the Angels: A History of Intercourse and Christianity เชื่อว่า มุมมองของนิกายโรมันคาทอลิกในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องพรหมจรรย์ส่วนใหญ่ได้รับการหล่อหลอมจาก “แนวคิดทางเทววิทยาชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 11 และ 12”
พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเรื่องพรหมจรรย์ของนักบวชว่าอย่างไร และกลายมาเป็นกฎเกณฑ์ได้อย่างไร?

ที่มาของภาพ : Getty Images
ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดว่าบาทหลวงต้องครองพรหมจรรย์ยกตัวอย่างพระเยซูเอง ดังที่พระกิตติคุณทั้ง 4 เล่ม ในพันธสัญญาใหม่ (New Testament) ไม่ได้กล่าวถึงภรรยาเลย
ในพระกิตติคุณของมัทธิว บทที่ 19 พระเยซูยังทรงแนะนำเรื่องการครองความเป็นโสดสำหรับผู้ที่สามารถทำได้ “เพื่อประโยชน์ของอาณาจักรแห่งสวรรค์”
ในจดหมายที่ระบุว่าเป็นของนักบุญเปาโล อัครสาวก กล่าวว่าจะเป็นการดีที่สุดหากทุกคนไม่แต่งงานและครองโสดเหมือนท่าน แม้ว่าในจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงนักบุญทิโมธี ท่านจะกล่าวว่าบิชอปควรแต่งงานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
การงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์มักได้รับคำชมจากคริสเตียนยุคแรก
นักเทววิทยาที่มีความสำคัญที่สุดสองคนของคริสตจักร ได้แก่ นักบุญออกัสตินและนักบุญโทมัส อไควนัส สนับสนุนความเป็นโสดของนักบวชเพื่อให้อุทิศตนเพื่อการแสวงหาทางจิตวิญญาณได้ดีขึ้น

ที่มาของภาพ : Getty Images
แต่เส้นทางสู่การถือพรหมจรรย์ที่กลายมาเป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้กันทั่วไปในคริสตจักรนั้นยาวนานและเป็นที่โต้แย้ง
ในปี ค.ศ. 325 สภาแห่งนีเซียที่เรียกโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมันได้หารือเกี่ยวกับการประพฤติพรหมจรรย์ของนักบวช และในปี ค.ศ. 692 สภาแห่งทรูลโลได้กำหนดให้การถือพรหมจรรย์เป็นข้อกำหนดบังคับสำหรับบิชอป แต่แนวปฏิบัตินี้ยังคงไม่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ
การถือพรหมจรรย์ของนักบวชเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “มหาศาสนเภท” (Exceptional Schism) หรือการแตกแยกครั้งใหญ่” ระหว่างคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกและออร์โธดอกซ์ในศตวรรษที่ 11 (เช่นเดียวกับในการปฏิรูปศาสนานิกายโปรเตสแตนต์มากกว่า 400 ปีในเวลาต่อมา) การปฏิรูปเกรกอเรียนในศตวรรษที่ 11 และสภาลาเตรันสองครั้งในปี ค.ศ. 1123 และ 1139 ได้บังคับให้มีการยับยั้งชั่งใจ (การงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์) อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และในที่สุดการถือพรหมจรรย์ก็กลายมาเป็นลักษณะเฉพาะของคณะนักบวชคาทอลิกในพิธีกรรมตะวันตกภายหลังยุคปฏิรูปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และสภาเมืองเตรนต์ (ค.ศ. 1545-1563)
วิสัยทัศน์ของนิกายคาทอลิกเกี่ยวกับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา “ไม่อนุญาตให้บาทหลวงปฏิบัติตัวเหมือนผู้ชายคนอื่น ๆ และมีภรรยาได้ เนื่องจากบาทหลวงเป็นตัวแทนของพระคริสต์ในพิธีมิสซา ซึ่งพระองค์เองก็ไม่ได้แต่งงาน” ดร.เจมส์ เคลลี จากมหาวิทยาลัยเดอรัม อธิบายกับบีบีซี
“ครอบครัวของบาทหลวงกลายเป็นฝูงชนของเขา ดังนั้น ความคาดหวังจากทั้งคริสตจักรและฆราวาสก็คือ บาทหลวงควรถือพรหมจรรย์” เขากล่าวเสริม
ผู้ฝ่าฝืนกฎ

ที่มาของภาพ : Getty Images
แม้จะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่พระสันตปาปาบางพระองค์ก็แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะรับศีลบวช เชื่อกันว่านักบุญฮอร์มิสดาส (ค.ศ. 514–523) ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นหม้ายในช่วงเวลาที่ได้รับเลือก และหลังจากที่พระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 2 (ค.ศ. 867–872) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปาเมื่อมีพระชนม์ได้ 75 ปี ทั้งภรรยาและบุตรสาวของพระองค์ก็อาศัยอยู่กับพระองค์ในพระราชวังลาเตรัน (จนกระทั่งทั้งสองถูกจับตัวไปและถูกลอบสังหาร ตามบันทึกของนักบุญเบอร์แต็งในศตวรรษที่ 9)
เชื่อกันว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 17 (ค.ศ. 1003) และพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 4 (ค.ศ. 1265–1268) แต่งงานก่อนที่จะได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปา และพระสันตะปาปาองค์อื่น ๆ ก็ทรงมีความสัมพันธ์นอกสมรสและมีบุตรด้วยกันในเวลาต่อมา
สตรีชาวอิตาลีที่มีอิทธิพลสองคนมักถูกระบุว่าเป็นบุตรสาวนอกสมรสของพระคาร์ดินัลที่ต่อมาได้ขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ได้แก่ ลูเครเซีย บอร์เจีย สตรีผู้สูงศักดิ์ซึ่งมีบิดาคือพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (ค.ศ. 1492-1503) ซึ่งอาจเป็นพระสันตะปาปาที่ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเจ้าชู้มากที่สุด และเฟลีเซ เดลลา โรเวอร์ หนึ่งในสตรีที่ทรงอำนาจและประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี ก็เป็นบุตรสาวของสมเด็จพระสันตปาปาจูเลียสที่ 2 (ค.ศ. 1503 – 1513)
ลูเครเซีย บอร์เจีย และเฟลีเซ เดลลา โรเวอร์ เป็นคู่ปรับในการเมืองราชวงศ์ยุคนั้น เมื่อครอบครัวชาวอิตาลีที่มีอำนาจแข่งขันกันเพื่ออิทธิพลและตำแหน่งพระสันตะปาปา (ลูเครเซีย บอร์เจีย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนักวางแผน เป็นหญิงชู้ และลอบวางยาพิษ)
“ชีวิตช่วงต้นของลูเทอร์ นักปฏิรูปในศตวรรษที่ 16 เกิดขึ้นในยุคของพระสันตะปาปาของตระกูลบอร์เจียที่ทุจริตอย่างน่าตกตะลึง สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 พระสันตะปาปาองค์ที่สองแห่งบอร์เจียมีบุตรนอกสมรสหลายคน” มิดเดิลตันกล่าว
“เขา (มาร์ติน ลูเทอร์) ยังเชื่อด้วยว่าการบังคับให้ถือพรหมจรรย์อาจนำไปสู่การผิดศีลธรรมทางเพศ”
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าพระสันตะปาปาหลายพระองค์ในศตวรรษที่ 15 และ 16 มีลูกนอกสมรส บีบีซีได้ติดต่อสำนักวาติกันและสถาบันคาทอลิกอื่น ๆ อีกหลายแห่งเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติของพระสันตะปาปาและการถือพรหมจรรย์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
อนาคตของการถือพรหมจรรย์ในคริสตจักร

ที่มาของภาพ : Getty Images
แม้ว่าคริสตจักรจะแสดงความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง (กฎเกณฑ์ได้รับการผ่อนปรนเพื่อรองรับบาทหลวงที่แต่งงานแล้วจากคริสตจักรแองกลิกันและคริสตจักรอื่น ๆ และผู้ชายที่แต่งงานแล้วได้รับการบวชเป็นบาทหลวงในพิธีกรรมตะวันออกมาเป็นเวลานานแล้ว) ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและสมเด็จพระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ปกป้องการถือพรหมจรรย์ของบาทหลวง
ศาสตราจารย์เฮนส์-ไอตเซน คาดหวังว่าในที่สุดคริสตจักรจะยอมรับบาทหลวงที่แต่งงานแล้วในพื้นที่ชนบท รวมถึงบวชให้กับผู้หญิง แต่เขาก็เชื่อว่า “เราไม่น่าจะเห็นพระสันตะปาปาที่แต่งงานแล้วในศตวรรษที่ 21”
ลินดา ปินโต อดีตแม่ชีจากคณะฟรานซิสกัน (Franciscan) ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่และยายที่เพิ่งฉลองวันครบรอบแต่งงาน 50 ปีของเธอไป บอกว่าเธอไม่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการถือพรหมจรรย์
“พวกเขาจะไม่ขยายขอบเขตนี้ให้กับผู้ที่เกิด รับบัพติศมา และเติบโตมาในคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก” เธอกล่าวสรุป
ที่มา BBC.co.uk