
ซีพีเอฟ จับมือคู่ค้า SME ปรับตัวรับยุคดิจิทัล ตอบโจทย์ผู้บริโภค ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME (Minute and Medium Entrepreneurs ) จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและเร็วเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง และเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แนวทางที่จะช่วยในการปรับตัวสำหรับธุรกิจ SME ในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงและรวดเร็ว คือ การผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยตระหนักถึง SME หลายแห่งยังมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้และปัจจัยต่างๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถ ซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินโครงการ SMEx ต้นทุนต่ำ นำรักษ์โลก ช่วยพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าธุรกิจ SME ในห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการถ่ายทอดความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญของบริษัทช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเจ้าของกิจการลงมือปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ต้นทุนลดลง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า SME เป็นพาร์ทเนอร์ของซีพีเอฟในการผลิตและส่งมอบสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการ SMEx จะช่วยสนับสนุนและถ่ายทอดความเชี่ยวชาญความรู้ของซีพีเอฟช่วยให้ SME มีศักยภาพปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันกระแสโลก โดยเฉพาะการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการ SMEx ที่ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 4 ในปีนี้ ซีพีเอฟยังได้จับมือกับพันธมิตรชั้นนำอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มพูนความรู้การพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สนับสนุนให้ SME สามารถคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ให้ความช่วยเหลืออุดหนุนด้านเงินทุนแก่ ช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเตรียมความพร้อม SME ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Pick up-Zero ด้วยกัน
นายจุลนภ ศานติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้ามองคาร์บอนฟรุตปริ้น เป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นกำลังสำคัญหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โครงการ SMEx ช่วยให้ SME ปรับตัวให้พร้อมรับความท้าทายต่างๆ สามารถแข่งขันได้บนเวทีระดับประเทศและระดับโลก
นางนภาสิริ ใจแสง บริษัท อินทราพรแพค จำกัด คู่ค้าผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กจำเป็นต้องมีความรู้และปรับปรุงด้านต่างๆ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องการ โครงการ SMEx ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กมีความรู้และสามารถปรับตัวได้เร็วก่อนคนอื่น และสามารถผลิตสินค้าได้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งในแง่คุณภาพ มาตรฐาน และดูแลสิ่งแวดล้อม
นายณัฐพงศ์ สหชัยพัฒนา บริษัท สหชัยกิจการพิมพ์ จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า บริษัทร่วมกับซีพีเอฟพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการ SME เป็นองค์กรขนาดเล็ก การร่วมโครงการ SMEx สร้างโอกาสให้ SME ได้เรียนรู้จากองค์กรขนาดใหญ่ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน อย่างเช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดเวลาในการทำงานที่ เป็นระบบอัตโนมัติ ช่วยธุรกิจมีเวลาไปพัฒนาองค์กรและบุคลากรมากขึ้น
นางสุภาวดี วชิระเธียรชัย บริษัท เอื้ออารีฟู้ด โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า เอื้ออารีฟู้ดเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องปรุงรสวัตถุดิบในการผลิตอาหารของซีพีเอฟมากว่า 25 ปี SME รุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมโครงการ SMEx จะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กลดต้นทุน มีกำไรเพิ่มขึ้น และได้ดำเนินงานดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สามารถตอบโจทย์จัดการปัญหาได้ตรงจุด ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก
โครงการ SMEx เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของซีพีเอฟภายใต้โครงการ “Partner to Grow” มีเป้าหมายเสริมสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า SME ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเติบโตไปด้วยกัน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )