เจ้าฟ้าทีปังกรฯ ทรงบรรลุนิติภาวะ เจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา

ที่มาของภาพ : Getty Images

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568 อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในวันนี้เจ้าฟ้าชั้นเอกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 (หน้า 8) บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ .จึงได้รวบรวมพระประวัติของพระองค์ เพื่อนำออกเผยแพร่เนื่องในวโรกาสอันเป็นมงคลนี้

ประสูติกาล

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะที่พระมารดายังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 ในเวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายพระประสูติด้วยวิธีการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเมื่อเวลา 19.00 น.

ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นพระอัยกา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาเพื่อขนานพระนามพระราชนัดดาว่า “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งพระราชทานเสมาทองคำจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ตามธรรมเนียมที่จะพระราชทานให้โอรสธิดาของพระราชวงศ์ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป รวมทั้งบุตรธิดาของข้าราชการในพระองค์

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด

ได้รับความนิยมสูงสุด

ที่มาของภาพ : Getty Images

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาอธิบายถึงความหมายแห่งพระนามของพระเจ้าหลานเธอว่า “ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง” และต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม ของปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นภาษาอังกฤษ ว่า His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ตามพระราชประเพณี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้นทรงเจริญพระชันษาครบ 1 ปี ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2549 กรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ชนิดราคา 50 บาท ทำด้วยทองแดงผสมนิกเกิล น้ำหนัก 21 กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 มิลลิเมตร ลวดลายด้านหน้ากลางเหรียญมีพระรูปพระเจ้าหลานเธอฯ ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย

พระนาม “ทีปังกร” สื่อความหมายพิเศษ

เนื้อหาในคัมภีร์พุทธวงศ์ ซึ่งเป็นปกรณ์หนึ่งในพระไตรปิฎกระบุว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่มาอุบัติในโลกเมื่อ 4 อสงไขยแสนกัปที่แล้ว โดยนับเป็นพระอดีตพุทธเจ้าในลำดับที่ 24 หากนับย้อนไปจากพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน

ในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ได้เสวยพระชาติเป็นฤๅษีนามว่าสุเมธดาบส ซึ่งได้บำเพ็ญบารมีด้วยการนอนทอดตนบนเปือกตม เพื่อให้พระทีปังกรพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวกเหยียบข้ามไปโดยโคลนไม่เปรอะเปื้อนร่างกาย สุเมธดาบสจึงได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน โดยจะมีพระนามว่าพระโคตมพุทธเจ้า (สมณโคดม)

พระนาม “ทีปังกร” นอกจากจะหมายถึงผู้จุดไฟหรือแสงสว่างแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นแล้ว ยังสื่อความหมายถึงการสืบทอดพุทธวงศ์ หรือวงศ์ตระกูลของพระพุทธเจ้าที่มาอุบัติเพื่อตรัสรู้สืบต่อกันอีกด้วย คติธรรมราชาของไทยนั้นถือว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์คือพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ดังนั้นการขนานพระนามของพระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอตามคติทางพุทธศาสนาดังกล่าว จึงสื่อแสดงถึงนัยสำคัญของการสืบทอดพระบรมราชจักรีวงศ์นั่นเอง

ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 อาจถือได้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงเป็นทายาทโดยสันนิษฐาน (heir presumptive) หรือที่ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน สาขานิติศาสตร์ เรียกว่า “บุคคลที่ถือว่าเป็นทายาท”

ที่มาของภาพ : Getty Images

ทายาทโดยสันนิษฐาน หมายถึงผู้สืบเชื้อสายที่มีสิทธิจะได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง หรือทรัพย์สิน ในลำดับแรกก่อนผู้สืบเชื้อสายคนอื่น ๆ แต่การเป็นทายาทโดยสันนิษฐานนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งทางการที่มีการแต่งตั้งรับรองอย่างชัดเจน เพราะสามารถมีผู้สืบเชื้อสายซึ่งมีสิทธิในการสืบทอดมากกว่ามาแทนที่ได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก “ทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง” (heir apparent) ถือกำเนิด ซึ่งบุคคลนี้เป็นทายาทที่มีการรับรองสิทธิอย่างเป็นทางการ และมีการรับประกันว่าจะได้สืบทอดบรรดาศักดิ์หรือทรัพย์สินอย่างแน่นอน โดยแทบจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้

ที่มาของภาพ : โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการ สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์และเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศwระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นพระราชโอรส ได้ทรงเจริญวัยตั้งพระทัยศึกษา และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยกุมารได้อย่างดียิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกหมู่เหล่า สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี”

“จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑”

“ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ”

การศึกษา

ที่มาของภาพ : เว็บไซต์โรงเรียนจิตรลดา

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เริ่มทรงพระอักษรในระดับชั้นอนุบาล 1 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับปฐมวัยที่โรงเรียนจิตรลดาในพระราชวังดุสิต โดยทรงเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ อาทิ กิจกรรมสัปดาห์รักการอ่าน ทั้งยังทรงร่วมกิจกรรมการแสดงในงานของโรงเรียนด้วย ก่อนจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี

แรกเริ่มทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติบาวาเรีย (Bavarian Worldwide College – BIS) ที่เขตไฮม์เฮาเซนทางตอนเหนือของนครมิวนิกในรัฐบาวาเรีย ซึ่งมีนักเรียนมาจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยทรงเข้าศึกษาในหลักสูตร Worldwide Baccalaureate (IB) หรือหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับเยาวชนก่อนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติทุกแห่งในกว่า 156 ประเทศ

เว็บไซต์ของโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ ระบุว่าข้อดีของหลักสูตร IB คือการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจได้ ไม่มีวิชาภาคบังคับแบบหลักสูตรการศึกษาทั่วไป เนื้อหาของบทเรียนยังมีความเป็นกลาง ปราศจากอิทธิพลทางการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และมุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างโดยปราศจากอคติ

ในภายหลังทรงย้ายไปเข้าศึกษาในหลักสูตรเทียบเท่าชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนวาลดอร์ฟชูเลอ (Waldorfschule) ของเยอรมนี ที่เน้นการบูรณาการระหว่างวิชาการในชั้นเรียน กับกิจกรรมส่งเสริมความคิดและจินตนาการนอกห้องเรียน นอกจากนี้ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังทรงเคยเข้ารับการฝึกทางทหารเบื้องต้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน พ.ศ. 2562 อีกด้วย

ทรงสนพระทัยในการบินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงลองฝึกการบังคับเครื่องบินชนิดต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ได้เสด็จไปยังสนามกีฬากลาง พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในการประทานถ้วยรางวัลพระราชทานและถ้วยรางวัลประทาน แก่ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับประเภทต่าง ๆ ในรายการ “หนูน้อยเจ้าเวหา”

ทรงศรัทธาในพุทธศาสนาและงานจิตอาสา

ที่มาของภาพ : สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงมีพระศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยทุกครั้งที่เสด็จกลับประเทศไทย จะเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามอยู่เสมอ โดยทรงสนพระทัยในการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้มีสติในการเรียนและการทรงงานในอนาคต ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชก็ได้ทรงสอนวิธีเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง รวมทั้งถวายวิสัชนาตอบพระปุจฉา ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่เป็นนิจ รวมทั้งขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ก็มักจะเสด็จไปทรงสนทนาธรรม ณ วัดป่ามุตโตทัยอยู่เป็นประจำ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสนองพระราชดำริในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตามหลักสูตร “ธรรมนาวา วัง” ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของภาพ : หน่วยราชการในพระองค์

ทรงบำเพ็ญพระกุศลโดยเสด็จไปยังพระอารามหลวงและวัดราษฎร์หลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งยังทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปถวายผ้าพระกฐินตามวัดสำคัญ เช่น ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังใฝ่พระทัยในการทรงงานจิตอาสาเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงร่วมกิจกรรมในโครงการจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ อาทิ ทรงบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เสด็จไปประทานสิ่งของแก่ตัวแทนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ และทรงประกอบอาหารประทานให้แก่จิตอาสาในพื้นที่เหล่านั้น

ในหลายครั้งทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อติดตามการดำเนินงานของโครงการจิตอาสาพระราชทาน และโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ ทั้งยังทรงรับเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ สโมสรผู้รักสวนสัตว์แห่งประเทศไทยด้วย

ที่มาของภาพ : กรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จไปทรงร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา ที่วัดประยุวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร